ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน

โรคลำไส้อักเสบเกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีสารพิษหรือเชื้อโรคเข้าไป โดยทั่วไปทางการแพทย์ถือว่าอาหารที่เป็นต้นเหตุคืออาหารมื้อสุดท้ายก่อนเกิดอาการ แต่สำหรับโรคติดเชื้อนั้นไม่แน่นอนเสมอไป ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อถึงระยะเวลามีอาการเกิดขึ้นนั้นเรียกว่าระยะฟักตัว ซึ่งเป็นลักษณะของโรคติดเชื้อ อาจเป็นระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงจนถึงหลายวัน


ลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อ

– เกิดจากพิษของแบคทีเรีย โดยที่ไม่มีการรุกรานทำลายผิวของลำไส้ (Non-invasive) ส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาจทำให้ถ่ายมากกว่า 10 ลิตรต่อวัน และทำให้เกิดภาวะช็อกจากการสูญเสียน้ำได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง

– เกิดจากการรุกรานทำลายผิวของลำไส้โดยแบคทีเรีย (Invasive) อาการของโรคเกิดจากการทำลายผนังของลำไส้ ทำให้มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้สูง อุจจาระมีมูกเลือดหรือมีกลิ่นเหม็น

– เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (Viral gastroenteritis) เป็นสาเหตุของการท้องเสียที่พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่ปัจจุบันพบโรคนี้ในผู้ป่วยผู้ใหญ่มากขึ้น ได้แก่ Rota visus, Adenovirus หรือ Norovirus ทำให้มีอาการท้องเสีย มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดตามตัว เป็นต้น

ลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่ไม่ใช่การติดเชื้อ

เป็นสาเหตุส่วนน้อยของโรคลำไส้อักเสบเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการกินสารมีพิษหรือกินอาหารที่ย่อยยากจำนวนมาก เช่น สารพิษจากปลาทะเล สารโลหะหนัก เห็ดพิษบางชนิด หรือกินยาผิด เป็นต้น ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และมักเกิดภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังได้รับพิษ

อาการที่ควรเฝ้าระวัง

– รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ทำอาจมีความเสี่ยงต่อการขาดน้ำในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะช็อกได้

– สูญเสียน้ำจากการท้องเสีย รู้สึกรอ่อนเพลีย หน้ามืดจะเป็นลม ปากแห้ง มือเท้าเย็น หรือหมดสติ

– ปวดท้องแบบบิดๆ เกิดเป็นพักๆ มักมีอาการถ่ายตามมา แต่หากการปวดท้องตลอดเวลาโดยไม่มีหยุด ให้ระวังไว้ว่านั่นอาจไม่ใช่การปวดจากลำไส้อักเสบธรรมดา

– มีไข้สูง หนาวสั่น อาจเป็นการติดเชื้อที่อาจจะรุนแรงได้

– ถ่ายมีมูกเลือด หรือมีอาการปวดหน่วงๆ ที่ทวาร นั่นอาจเป็นอาการของลำไส้ใหญ่อักเสบ

วิธีป้องกันตัวเองได้ดีที่สุดคือเลือกกินอาหารที่ปรุงสดใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำทิ้งไว้ ล้างมือก่อนกินอาหาร และหากพบความผิดปกติใดๆ ควรปรึกษาแพทย์

ข้อความนี้ถูกเขียนใน สาระน่ารู้ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร